วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

บุกตะลุย...กรุงเก่า ภาคต้น



                                 ราชธานีเก่า อู่ข้าวอู่น้ำ

เลิศล้ำกานต์กวี คนดีศรีอยุธยา
คำขวัญประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

        ย้อนไปขณะที่กำลังเขียนตอนนี้...หมอแบงค์และเพื่อนๆกำลังเป็นนักศึกษาแพทย์เวชปฏิบัติ(EXTERN)ซึ่งอยู่ในช่วงปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยาที่เป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดนี้


       หลายๆคนอาจจะสงสัยว่าEXTERNแบงค์มาทำอะไร ณ กรุงเก่าแห่งนี้ คำตอบก็คือ การมาปฏิบัติงานที่ จ.พระนครศรีอยุธยานั้นเป็นหนึ่งในหลักสูตรของคณะแพทยศาสตร์ มศว ปีสุดท้าย โดย นักศึกษาแพทย์เวชปฏิบัติ(EXTERN)ของคณะแพทย์ มศว ต้องมาปฏิบัติงานที่จังหวัดนี้เป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ โดยปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด คือโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยาเป็นระยะเวลา  3 สัปดาห์ และโรงพยาบาลชุมชนคือโรงพยาบาลภาชี อีก 3 สัปดาห์ รวมแล้ว 6 สัปดาห์พอดิบพอดีไม่ขาดไม่เกิน





               จุดประสงค์ของการมาฝึกที่นี่นอกจากจะต้องการให้มาปฏิบัติงานตาม Ward ต่างๆแล้ว จุดมุ่งหมายอีกประการคือต้องการให้มาเรียนรู้ระบบการบริหารโรงพยาบาล ซึ่งมีความจำเป็นมากสำหรับแพทย์ที่จบใหม่และไปปฎิบัติงานเพิ่มพูนทักษะและใช้ทุนในโรงพยาบาลต่างจังหวัด
             เป็นที่ทราบกันว่าหากใครต้องการเรียนแพทย์ หรืออยากเป็นคุณหมอรักษาคนไข้ สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับที่สองต่อจากอันดับแรกที่ต้องสอบแอดมิดชั่นให้คะแนนถึงก็คือ เซ็นสัญญากับรัฐบาล โดยในสัญญานั้นจะมีเนื้อหาระบุไว้ว่าเมื่อจบหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต 6 ปีแล้ว แพทย์ทุกคนต้องไปปฏิบัติงานเพิ่มพูนทักษะและชดใช้ทุน ณ ต่างจังหวัดเป็นระยะเวลาทั้งหมด  3 ปี หากใครไม่ไปก็คือผิดสัญญาต้องเสียเงินชดใช้ตามที่กำหนดไว้ในสัญญา ซึ่งในปีของหมอแบงค์คือ 400,000 บาท (สำหรับปีของน้องๆหมอแบงค์ไม่ทราบว่าในสัญญาต้องเสียเท่าไร แต่น่าจะมากกว่า 4 แสนบาทชัวร์) ซึ่งการจะได้ไปจังหวัดไหนนั้นก็แล้วแต่เราจะเลือก ดังนั้นจึงเป็นที่แน่นอนว่า ยิ่งจังหวัดไหนใกล้กรุงเทพหรือใกล้ตัวเมืองที่เจริญมากเท่าไร คนก็ยิ่งเลือกมากเป็นธรรมดา คงไม่มีใครอยากไปไกลๆบ้าน เช่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือไปอยู่บนดอยสูงๆ จึงเป็นเหตุให้จังหวัดที่ใกล้ตัวเมืองใหญ่คนเลือกมากเป็นเงาตามตัว จนโควต้าที่รับได้ของจังหวัดนั้นๆเกินโควต้าเป็นเหตุให้ต้องมีการจับฉลากเหมือนกับที่น้องเห็นในภาพยนตร์เรื่อง หมอเจ็บ

         3 ปีน้องๆจะต้องทำอะไรบ้าง หมอแบงค์จะเล่าให้ฟังคร่าวๆ ส่วนเล่าแบบละเอียดถึงน้ำถึงเนื้อจะมีในตอนถัดไป

         ปีแรก หลังจากที่การจับฉลากเสร็จสิ้น น้องจะต้องไปปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดที่น้องเลือก เป็นที่แน่นอนว่า คนไข้เยอะมาก ถล่มทลาย ไม่เหมือนสมัยอยู่ในโรงเรียนแพทย์หรอกครับ

       ปีที่สอง-สาม ก็ย้ายไปปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งบางแห่งก็เป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กมาก มีหมอเพียงสองคน คือ น้องกับเพื่อนน้องอีกหนึ่งคน ดังนั้นจึงเป็นที่แน่นอนว่าไม่น้องก็เพื่อนน้องนั้นแหละที่ต้องรับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลนั้นๆ หรือจะสลับกันเป็นคนละหนึ่งเดือนก็ได้นะ ไม่มีใครมาว่าน้องหรอก

      จึงเป็นที่มาของหลักสูตรการเรียนของหมอแบงค์ที่นอกจากต้องมาฝึกปฏิบัติงานตามWardต่างๆแล้ว ยังต้องมาเรียนรู้ระบบการบริหารโรงพยาบาลด้วย

       มาพูดถึงการใช้ชีวิตที่โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยากันดีกว่า เมื่อมาที่นี่EXTERNแบงค์ก็พบว่าหลักสูตรปีนี้ไม่สบายเหมือนปีก่อนๆอีกต่อไปแล้ว จากที่รุ่นพี่บอกว่างานที่อยุธยาเป็นงานสบาย เวรก็อยู่แค่ที่ ER อาทิตย์ละครั้งเดียวส่วนเวลาว่างก็ได้ไปเที่ยวกรุงเก่า แต่คราวนี้ผิดจากที่คาดการเอาไว้ หลักสูตรกลับถูกปรับเปลี่ยนให้หนักขึ้นเป็นเท่าตัว ต้องอยู่เวรวันเว้นสองวัน โดยสำหรับวันธรรมดาอยู่เวรตั้งแต่ 4 โมงเย็นถึง  8 โมงเช้าอีกวัน ส่วนวันหยุดก็อยู่ตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน กระอักเลยครับ แต่ไม่เป็นไรถือว่ามาฝึกแล้วกัน

         มาที่นี่หมอแบงค์เลยได้คำตอบของคำถามที่ว่า
      ทำไมคนเรียนแพทย์ก็เยอะ แต่มีคนบอกว่าแพทย์ขลาดแคลน ? 
ตอบ
ประเทศไทยนั้นยังขาดแคลนแพทย์อยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะในชนบทและที่ห่างไกล สาเหตุเนื่องมาจาก
        1.วิชาชีพนี้เป็นวิชาชีพที่เรียนได้ยาก แต่ละปีมีคนซ้ำชั้นตกค้างจำนวนหนึ่ง
คนหัวดีอย่างเดียวไม่พอหรอกครับ สำคัญจริงๆคือ ความขยันหมั่นเพียร และความรับผิดชอบต่อหน้าที่นะ บางคนหัวดีแต่ไม่ขยันก็ไปไม่รอด สู้คนหัวไม่ดีแต่มีความขยันมานะอดทนไม่ได้
        2.แพทย์ปีหนึงจบมาก็ประมาณพันเศษๆเกือบสองพันเท่านั้น เทียบกับอาชีพอื่นเช่นวิศวะจบมาปีหนึ่งก็หลายพันครับ
        3.แพทย์ที่จบมาส่วนหนึ่งจะทำงานในเมืองใหญ่ๆ และรพ.เอกชน ส่วนต่างจังหวัดนอกเมืองที่ห่างไกล จำนวนแพทย์ที่ไปก็จะลดน้อยตามระยะทางนะ อย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นี่ขาดหมอสุดๆเลย อันนี้EXTERNแบงค์สัมผัสมากับตัวเอง อย่างรพ.ที่จังหวัดอยุธยา งานที่นี่ค่อนข้างวุ่นวาย คนไข้ก็มีอภิมหาเยอะจนถึงขั้นคนไข้ล้นทะลักออกไปนอกWard จนต้องเอาเตียงเสริมตามหน้าลิฟต์ ตามทางเดินและระเบียง เตียงที่ว่างๆบางทีก็มีญาติคนไข้นอนอยู่แทน บางคนก็นอนตามบันได ข้างไม้ถูพื้น เป็นที่น่าสลดสังเวชใจ เห็นแล้วรู้สึกเหนื่อยใจแทน พยาบาลก็งานยุ่งหัวฟู ถึงกระนั้นก็ยังคงมาตามราวด์และเสิร์ฟชาร์ตได้ให้หมอได้อย่างสุดยอด
ส่วนแผนกผู้ป่วยนอกคนไข้รอตรวจตั้งแต่เช้าเป็นร้อยๆถึงพันๆ หมอก็มีแค่ไม่กี่คนคน คนไข้บางคนมารอตั้งแต่แปดโมงเช้ากว่าจะได้ตรวจก็บ่ายสามล่ะครับ -_-"

        ส่วนที่ลำบากมากสำหรับที่นี่นอกจากเรื่องความเหนื่อยในการปฏิบัติงานคือเรื่องอาหารการกิน ความจริงอาณาบริเวณโดยรอบโรงพยาบาลอยุธยานี้มีร้านอาหารอร่อยๆมากมายแต่ส่วนใหญ่จะเป็นสวนอาหารหรูริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งถ้าจะให้หมอแบงค์ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นEXTERNไม่มีรายได้ กินสวนอาหารทุกวันก็คงไส้แห้งพอดี หมอแบงค์ก็เลยต้องพยายามหาทางออกทางอื่น เช่น กินอาหารในโรงอาหารของโรงพยาบาลแทน แต่โรงอาหารที่นี่เล็กมากมีร้านเปิดอยู่ไม่กี่ร้าน อยู่นี้เพียงสองสามวันก็กินจนเบื่อแล้ว ครั้นจะข้ามถนนไปฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาล ก็ยิ่งไม่มีอะไรกินนอกจากโรตีสายไหม หน้าโรงพยาบาลเป็นถนน(โรตี)สายไหม มีร้านเปิดแข่งกันเป็นสิบๆร้าน แย่งกันโฆษณาว่าได้รางวัลปีนั้นปีนี้ มีช่องสาม ช่องเจ็ด ททบ.5 เชลล์ชวนชิมมารับประกันความอร่อย ร้านนี้ดั้งเดิม เจ้าเก่า ร้านดัง จนหมอแบงค์งงไปหมดแล้วว่าจะซื้อร้านไหนกินดี สงสัยว่ามันคงดังทุกร้านเลยกระมั้ง ขนาดบางร้านตั้งชื่อร้านว่า  ไม่ดัง แต่อร่อยเข้าใจคิดนะเนี้ย
สายไหมของฝากขึ้นชื่อของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

มีชื่อเสียงด้านความอร่อยอยู่หลายร้าน  ท่านใดสนใจแวะไปซื้อมารับประทานกันได้ครับ

เกร็ดความรู้
โรงพยาบาลประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาแห่งนี้เคยประสบปัญหาอุกทุกภัยสองครั้ง ครั้งแรกในปี พ.. 2538

      ครั้งที่สอง คือเหตุการณ์ที่พึ่งเกิดไม่นาน เหตุการณ์มหาอุทุกภัยปี 2554 มวลน้ำปริมาณมากได้ไหลทะลักท่วมกรุงเก่าของเรา ย่านเศรษฐกิจการค้า ย่านแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลกล้วนจมอยู่ใต้บาดาล โรงพยาบาลก็ไม่มีข้อยกเว้น แพทย์และพยาบาลต้องขนย้ายผู้ป่วยหนักหรือผู้ป่วยวิกฤติ ไปยังจังหวัดข้างเคียงที่ยังแห้งอยู่ เปิดบริการเพียงห้องฉุกเฉินซึ่งท้ายที่สุดก็ต้องปิดการให้บริการเช่นกันเนื่องจากปริมาณน้ำขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว รถพยาบาลและเครื่องมือแพทย์เสียหายเป็นจำนวนมาก








โชคดีจริงๆที่วิกฤตินั้นได้ผ่านพ้นมาได้ในที่สุด ขออย่าให้เกิดเหตุการซ้ำรอยอีกเลย

                                                                                    เรื่องโดย ~หมูสนาม~

พี่หมอ
คำเตือน
บทความนี้ได้จดทะเบียนลิขสิทธิ์แล้วหากผู้ใดคัดลอกโดยไม่อ้างอิงที่มา จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ทางปัญญา